สพป.จันทบุรี เขต 1

การบริหารจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจันทบุรี


จันทบุรีเมืองแห่งประวัติศาสตร์

          จันทบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ปรากฎหลักฐานว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีการสำรวจโบราณคดีหลายแห่งในจันทบุรี พบเครื่องมือเครื่องใช้ยุคหินขัด อายุประมาณ 2,000 ปี ในเขตอำเภอมะขาม อำเภอท่าใหม่และที่ราบเชิงเขาที่บ้านคลองบอน อำเภอโปงน้ำร้อน เริ่มการตั้งเมืองครั้งแรกหน้าเขาสระบาป ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ชาวชอง หรือชนเผ่าในตระกูลมอญ-เขมร เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในป่าฝั่งตะวันออก บริเวณจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ซึ่งเป็นแหล่งของป่าและสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์ ในสมัยก่อนชาวชองดำรงชีพด้วยการเก็บของป่ามาขาย ปี พ.ศ. 2200 ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี และหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศตะวันออกและยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและไพร่พล จากนั้นจึงนำกองทัพทั้งชาวไทยและชาวจีนจำนวน 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากโบราณสถาน และอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถ และ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในครั้งนั้น

          ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านเนินวง เนื่องจากเป็นที่สูงมีชัยภูมิเหมาะเป็นที่มั่น ในการป้องกันการรุกรานของพวกญวน จนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองจันทบุรีได้ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านลุ่มตามเดิม เนื่องจากบริเวณบ้านเนินวงอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรีไว้เป็นเวลานานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกเมืองจันทบุรีกลับคืน ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดตั้งระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ เมืองจันทบุรีได้ยกฐานะเป็นจังหวัดจันทบุรีมาจนถึงปัจจุบัน จังหวัดจันทบุรีจึงเป็นเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนทุกวันนี้ (สำนักงานจังหวัดจันทบุรี, 2562)

          ประวัติความเป็นมาของจังหวัดจันทบุรีดังกล่าวมาข้างต้น ปรากฎแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานร่องรอยที่คงอยู่มากมายในพื้นที่ซึ่งควรคาแกการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 พบว่า สถานศึกษาใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นค่อนข้างน้อย ไม่มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ และไม่เชื่อมโยงกับตัวชี้วัดในหลักสูตร โดยมากเป็นการนำนักเรียนไปทัศนศึกษา ณ แหล่งเรียนรู้ นั้นๆ ผู้เรียนไม่เกิดความรู้และทักษะทางประวัติศาสตร์ และไม่เกิดเจตคติที่ดีต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่น


การสอนประวัติศาสตร์ในโลกปัจจุบัน

          สังคมปัจจุบันเป็นโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และโลกของตลาดเสรีที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตแบบทันสมัยที่มีความเป็นสากล ทั้งภาษาการแต่งกาย อาหารการกิน ภาพยนตร์ และดนตรี เป็นยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่หลงใหลกับโลกตะวันตก ชื่นชมสไตล์เกาหลีและญี่ปุ่นว่าล้ำหน้าและทันสมัย เป็นยุคที่ผู้คนส่วนหนึ่งนิยมคนเก่ง คนฉลาด ทันสมัย ทันเหตุการณ์รู้เท่าทันเทคโนโลยี และเป็นยุคที่เด็กไทยเห็นและหลงใหลความเป็น "ปัจเจกชน" มากกว่าจิตสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อ "ค่านิยมความเป็นไทย" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทยนับวันยิ่งจะถูกละเลยจากเยาวชนมากยิ่งขึ้น "ประวัติศาสตร์" สำหรับเยาวชนไทย จึงอาจเป็นเพียงเรื่องราวในอดีต ที่เต็มไปด้วยปี พ.ศ. สิ่งของเก่าแก่ ผู้คนที่ล้มหายตายไปหมดแล้ว เหตุการณ์ที่ต้องจดจำและจำเรียน เพื่อ "สอบ" ตามเกณฑ์ในระบบการศึกษาเท่นั้น แม้ว่าจะมีผู้เรียนบางคนชอบและสนุกสนานที่จะฟังเกร็ดประวัติศาสตร์ ได้เรียนรู้อดีต มีความภาคภูมิใจในชาติและบรรพบุรุษ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีคำถามเสมอว่าจะเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม ประวัติศาสตร์มีประโยชน์อย่างไรในโลก จะนำความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไปประกอบอาชีพอะไร และยังมีคำถามที่เป็นความคาดหวังของสังคมว่า "หลักสูตรประวัติศาสตร์ควรเป็นอย่างไร เยาวชนไทยจึงจะรัก และภาคภูมิใจ ในความเป็นชาติไทย"

          ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มีคุณค่าที่สุดแขนงหนึ่งของการเรียนรู้ เพราะประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกื้อกูลกับศาสตร์แขนงต่างๆไม่ว่าจะเป็นแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมสื่อสารมวลชน รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานที่เป็นประสบการณ์ของมนุษย์ในอดีต หรือ ต้องมีความรู้ "ประวัติศาสตร์" นั่นเอง (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2554: 5) ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์จำนวนมาก ในอดีต เป้าหมายของการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์คือ การเข้าใจสังคมของมนุษย์ในสมัยอดีต เพื่อนำมา เปรียบเทียบความเข้าใจสังคมของมนุษย์ยุคปัจจุบันในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ในยุคปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ทำให้เกิดแนวคิดและ วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งความรู้ต่าง ๆ เกิดจากการประสบการณ์ที่สะสมมานานและจะล้าสมัยไปอย่าง รวดเร็ว ดังนั้นมนุษย์จึงมีการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้จากประสบการณ์ไม่เพียงพอต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ตลอดไป ฉะนั้นการพัฒนาความสามารถในการคิด จะช่วยแก้ไขปัญหาและกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และการดำเนินชีวิตให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมควบคู่กับการมีคุณธรรม สำหรับการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนในสังคมยุคใหม่มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือครูผู้สอนยุคใหม่ จะต้องมีการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างคนรุ่นให้มีคุณลักษณะที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของ สังคมแห่งศตวรรษที่ 21 ตามแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวทาง การจัดการศึกษาตามแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ในการศึกษายุค 4.0 ต่างให้แนวคิดจัดการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ครูผู้สอนต้องเข้าใจถึง แก่นของการพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป้าหมายคือผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ที่มีทักษะจำเป็นในโลกยุค ปัจจุบันและอนาคต ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (สมศักดิ์ เอี่ยมคงสี, 2561)

          การเรียนรู้ประวัติศาสตร์คือพื้นฐานเบื้องต้นในการรู้จักและเข้าใจคุณค่าความสำคัญของอดีตด้วยการคิดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์วินิจฉัย บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผลจากหลักฐานข้อเท็จจริงที่หลากหลาย ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นนักคิด มีเหตุมีผล กระบนการศึกษาทางประวัติศาสตร์หรือวิธีการทางประวัติศาสตร์มุ่งเสริมสร้างจิตใจ ให้เป็นผู้ฝ่เรียนรู้รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ ทำให้ได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีตความเป็นมาของสังคมในพื้นที่และบริบทของเวลาต่าง ๆ ประวัติศาสตร์เปรียบเสมือนกระจกที่ส่องให้เห็นสังคมมนุษย์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ในพื้นที่ที่หนึ่ง ที่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สอนให้เรารู้จักตนเองรวมถึงความเป็นมาของชุมชน ท้องถิ่นและประเทศชาติ ปลูกจิตสำนึกในความเป็นชาติรักและภาคภูมิใจในบรรพบุรุษที่ก่อตั้งชาติบ้านเมือง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนัก ถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์และเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ เพื่อพัฒนาทักษะ สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน


ปัญหาในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์


          การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ประสบปัญหาหลายประการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้พิจารณาทบทวนการบริหารจัดการการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งทางด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ประวัติศาสตร์ในสถนศึกษา เพื่อสำรวจสภาพปัญหาและหาแนวทางการพัฒนา พบว่า มาตรฐานของวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาต่ำกว่าความคาดหมาย และส่งผลกระทบไปถึงการศึกษาต่ออย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2558: 15) ในระดับมหาวิทยาลัยนักวิชาการมีความเห็นร่วมกันว่า มีปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อความอ่อนด้อยของวิชาประวัติศาสตร์ในระดับโรงเรียน เช่น การให้เวลาเรียนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาอื่นในกลุ่มวิชาทางด้านสังคมศึกษาน้อยเกินไปทั้งที่มีเนื้อหาและทักษะกระบวนการที่ต้องฝึกฝนจำนวนมาก และคุณภาพของบุคลากรผู้สอนประวัติศาสตร์ที่เน้นไปทางด้านเนื้อหาสาระมากเกินไปจนละเลยเรื่องทักษะกระบวนการและเจตคติค่านิยม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเวลาเรียนจำกัด อีกประการหนึ่ง ในขณะที่มีการปฏิรูปการเรียนการสอนระดับโรงเรียน แต่วิชาประวัติศาสตร์ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างแท้จริง ทั้งที่กระแสความรับรู้ของสังคมได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เพราะต่างเป็นห่วงกันว่าคนไทยและเยาวชนไทยมีความรู้ประวัติชาติของตัวเองน้อยมาก ทั้งนี้อาจเป็นด้วยความเข้าใจปรัชญาและประโยชน์ในทางปฏิบัติของวิชาประวัติศาสตร์ต่อพัฒนาการด้านภูมิปัญญาของเยาวชนของชาติไม่ชัดเจน นอกจากนี้ครูผู้สอนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านประวัติศาสตร์ ครูที่สำเร็จด้านประวัติศาสตร์มีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่สอนในระดับมัธยมศึกษา อีกทั้งที่ผ่านมาการพัฒนาครูผู้สอนประวัติศาสตร์ก็มีน้อยมาก เอกสารที่ให้ความรู้ด้านการสอนประวัติศาสตร์ ก็มีน้อย ครูขาดความรู้และความเข้าใจในทักษะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ตามเป้าหมายของหลักสูตร รวมทั้ง ไม่สามารถสนองความต้องการของผู้เรียนในยุคโลกาภิวัตน์ได้ จากการศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนสาระ หน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ศาสนา เรียงความและย่อความ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2551 : ก-ง) พบว่า ครูผู้สอนส่วนใหญ่ไม่ได้จบวิชาเอกเฉพาะ ครูส่วนหนึ่งต้องสอนหลายกลุ่มสาระและสอนหลายระดับชั้น ครูผู้สอนมีภาระงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาระงานสอน ครูผู้สอนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร และครูผู้สอนไม่ได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาด้านความรู้เนื้อหาวิชาและทักษะในการจัดการเรียนรู้ การจัดฝึกอบรมเน้นจัดให้สำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระอื่นๆ หลักสูตรสถานศึกษาไม่ครอบคลุมและไม่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา มีข้อมูล และเนื้อหาจำนวนมาก และผู้บริหารสถานศึกษาให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย การจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสังคมศึกษาส่วนใหญ่ยังคงเน้นข้อมูล และสร้างความเข้าใจในสาระเนื้อหา สื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอ และไม่เร้าความสนใจผู้เรียน ครูผู้สอนใช้หนังสือเรียนเป็นสื่อการเรียน ครูขาดทักษะในการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน

 

การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์


          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไว้ว่า (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2563: 7) สถานศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ทั้งรูปแบบกิจกรรมในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง และเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนให้ความสนใจให้ความร่วมมือในการทำ กิจกรรมเป็นอย่างดีคือ การเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อาจจัดได้ทั้งรูปแบบ กิจกรรมในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน ซึ่งการเรียนรู้เนื้อหาสาระ หลักการ และ ทฤษฎีในห้องเรียนจะเป็นรูปธรรม เข้าใจได้ง่ายและชัดเจนขึ้นเมื่อผู้เรียนได้สัมผัส รับรู้ เกิดประสบการณ์ตรงจากสิ่งที่เรียนรู้หรือกำลังศึกษาจากการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การทำโครงงานประวัติศาสตร์ การทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา สร้างประสบการณ์ ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เกิดเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้แก่ผู้เรียน แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น คือสถานที่สำคัญในท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา พัฒนาการของสถานที่ บุคคล ฯลฯ ให้เห็นเป็นการเฉพาะและสามารถสืบคันได้ เช่น โรงเรียน วัด มัสยิด โบสถ์ นุสาวรีย์ ตลาด ย่านการค้า แหล่งชุมชนโบราณ ป้ายจารึกพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นการประกอบอาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีหรืออาจหมายถึง บุคคลสำคัญ ปราชญ์ หรือภูมิปัญญาในท้องถิ่น ฯลฯ องค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ได้แก่ การกำหนดเนื้อหาที่ชัดเจน การกำหนดกิจกรรมให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรมในพื้นที่แหล่งเรียนรู้การประเมินทักษะต่าง ๆ ของผู้เรียน โดยครูผู้สอนต้องวางแผนการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการก่อนออกเดินทาง ขั้นศึกษาแหล่งเรียนรู้ (การลงพื้นที่) และชั้นนำเสนอผลงาน (การสรุปงาน)


การบริหารจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์


          การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของสถานศึกษาควรดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นการวางแผน (Planning) ขั้นการปฏิบัติ (Action) ขั้นการสังเกต (Observation) และชั้นการสะท้อนผล (Reflection) ดังนี้

           1. ขั้นการวางแผน (Planning) เป็นการวางแผนออกแบบการดำเนินการพัฒนา ได้แก่ การวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการพัฒนา โดยคณะทำงานร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางในการพัฒนา จัดทำปฏิทินการดำเนินการพัฒนา

           2. ขั้นการปฏิบัติ (Action) เป็นขั้นตอนในการนำแผนการดำเนินการลงปฏิบัติการโดยใช้กลยุทธ์ที่ได้ออกแบบวางแผนไว้ ได้แก่

           2.1 การสร้างองค์ความรู้ให้ครูผู้สอนทั้งด้านทักษะ กระบวนการ และคุณลักษณะของครูผู้สอน เช่นการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นกับหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการสร้างคลิปวีดิทัศน์แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของสถานศึกษา

           2.2 ครูผู้สอนการนำองค์ความรู้ที่ได้รับทั้งด้านทักษะ กระบวนการ และคุณลักษณะปฏิบัติการในสถานศึกษา ได้แก่ กรจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการสร้างคลิปวีดิทัศน์แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของสถานศึกษา

           3. ขั้นการสังเกต (Observation) เป็นขั้นตอนในการลงพื้นที่ สังเกต กำกับ นิเทศ ติดตาม การดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจในการนำไปใช้ ตลอดจนการช่วยเหลือ เพื่อทำให้กระบวนการดำเนินไปตามขั้นตอน และสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ได้แก่

          3.1 การลงพื้นที่สังเกตการณ์จัดการเรียนรู้รายโรงเรียน ครูผู้สอนรายบุคคล

          3.2 การนิเทศแบบ Coaching Technique และเครือข่ายผู้อำนวยการโรงเรียนหนุนเสริม

         4. ขั้นการสะท้อนผล (Reflection) เป็นขั้นตอนที่นำข้อมูลย้อนกลับระหว่างการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อนำมาแก้ไขพัฒนา และนำข้อมูลย้อนกลับเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสรุปผล ได้แก่

         4.1 การประชุมกลุ่มย่อยหลังปฏิบัติงาน (AAR) โดยครูผู้สอน ร่วมกับศึกษานิเทศก็และผู้อำนวยการโรงเรียนหนุนเสริม

4.2 การประชุมถอดบทเรียนของครูผู้สอน ร่วมกับศึกษานิเทศก็และผู้อำนวยการโรงเรียนหนุนเสริม ประกอบด้วย กิจกรรมแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ รับทราบปัญหา อุปสรรคและเสนอแนะแนวทางในการดำเนินกิจกรรมที่ยังไม่ชัดเจน หรือเป็นแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการสร้างคลิปวีดิทัศน์แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

 

เอกสาร PDF

กล่องแสดงความคิดเห็น

เป็นบทความที่มีเนื้อหาสาระดีมาก
บันทึก : 2023-09-11 22:36:08 เขียนโดย พรณรงค์ ทรัพย์คง
เนื้อหาน่าสนใจมากค่ะ
บันทึก : 2023-09-11 22:36:37 เขียนโดย ภาวิณี กาฬบุตร