สพป.จันทบุรี เขต 1

Next Station… Chanthaburi Band

เมื่ออ่านบทความนี้จบ คุณอาจจะได้ยินเสียงดนตรีดังแว่ว ๆ
จากเยาวชนดนตรีกลุ่มไม่ใหญ่ แต่อยู่ในทั่วทุกมุมของเมืองจันท์


โครงการ Chanthaburi Band เกิดขึ้นจากการรวมตัวของครูและอาจารย์ในวงการดนตรีเมืองจันท์ เพื่อสร้างสรรค์เมล็ดพันธุ์ดนตรีและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน โดยการนำของครูพรณรงค์ ทรัพย์คง, อาจารย์ศุภศิระ ทวิชัย สาขาวิชาดนตรี คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, ครูวิรัติ กฤษดำ ครูดนตรีสากลและผู้ฝึกสอนวงโยธวาทิต ร.ร.สตรีมารดาพิทักษ์จันทบุรี, นายเอกวิชญ์ เรืองจรูญ นักเรียบเรียงเสียงประสานและประพันธ์เพลงของ Kaan Studio


โดยนำประสบการณ์และแรงบันดาลใจด้านดนตรีต่อยอดสู่การพัฒนาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝนอย่างถูกต้องถูกวิธี โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อเยาวชนจันทบุรี ทั้งในเรื่องของการศึกษาต่อหรือการเรียนรู้และพัฒนา นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้นอกจากการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังได้ต่อยอดและถ่ายทอดสู่น้องๆ ตามโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ




การสร้างนักเล่าเรื่องเมืองจันท์ผ่านเสียงดนตรี

"ความตั้งใจส่วนหนึ่งของโครงการคือ อยากให้เด็กมีความสามัคคี มาเล่นดนตรีด้วยกัน สามารถแลกเปลี่ยนความรู้สู่กันและกันได้ เพราะเล็งเห็นว่าพลังของเครือข่ายนั้นสำคัญ”

"เริ่มจากว่าเราจะสามารถเล่าได้ว่าบ้านเมืองเรามีอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องถึงความเป็นจันทบุรี โดยมีเยาวชนเป็นสื่อและมีผู้ปกครอง ครู อาจารย์ให้การสนับสนุนอีกอย่างคือเมืองจันท์เป็นเมืองมีเสน่ห์ ลองคิดภาพว่าถ้าเมืองจันท์มีเสียงดนตรีดีๆ เปิดตามชุมชนต่างๆ ด้วยฝีมือของเยาวชนที่พวกเราผลักดันขึ้นมา เราก็จะสร้างสังคม สร้างเสียงดนตรีดีๆให้กับเมืองจันท์ได้ และเราไม่ได้พัฒนาแค่ในเมือง เราจะช่วยกันสร้างนักดนตรีไปทั้งจังหวัด มีไลน์กลุ่มของครูทุกโรงเรียนรวมกัน คุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน เชื่อว่าต่อไปมันจะไปเป็นโมเดลที่จังหวัดอื่นๆ จะทำตามได้เหมือนกัน”



"เมื่อเราเชื่อว่า สิ่งที่เราทำมันเป็นไปได้ ไม่ได้เกิดจากความมโนไปเอง แต่เกิดจากเราเห็นโอกาสที่พร้อม ถ้าวันหนึ่งผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราทำ การที่เราจะเดินไปข้างหน้าจะเกิดขึ้นได้ไวมาก และคุ้มค่ากับการสร้างคนให้มีคุณภาพ”

กระแสตอบรับโครงการที่ดีขึ้นในทุกๆ ครั้ง

"เด็กที่สัมผัสกิจกรรมนี้อยู่แล้ว เขาก็ยิ่งชอบ เพราะว่าเขาได้เพื่อนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น กลายเป็นชุมชนขนาดย่อยที่เยาวชนเขาสร้างขึ้นเอง เราได้เห็นสังคมดีๆ เด็กสายดนตรีรักกันมากขึ้น เห็นภาพที่เขารู้จักกันผ่านการเล่นดนตรี เราสอนเขาว่า ถ้าเราเก่งกว่าเขา เราควรสอนเขา เราพยายามสอนให้เขาเป็นผู้นำ เพื่อต่อไปในอนาคต เขาจะได้มาสานโครงการนี้ต่อจากเราได้”


คุณค่าและความศรัทธาจะสร้างความยั่งยืน

"เราต้องทำให้เด็กๆ เห็นว่าสิ่งนี้มีคุณค่า เขาก็จะรู้สึกว่าควรแก่การรักษาไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องดนตรี แต่หมายถึงทุกๆ อย่างที่เราชอบที่เราทำ เมื่อเห็นคุณค่าและศรัทธาสิ่งนี้ก็อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน”

"อันดับแรกเราต้องการบ้านก่อน เมื่อมีบ้าน เราก็เอาเฟอร์นิเจอร์เข้าไปได้ เฟอร์นิเจอร์ในที่นี้ก็คือองค์ความรู้ พวกเราวางโมเดลไว้ว่าควรจะต้องมี "ศูนย์พัฒนา” เพราะปัจจุบันนี้เยาวชนสายดนตรีมีจำนวนไม่น้อย เราต้องการมีที่ที่เด็กๆ ไม่ว่าจากโรงเรียนไหนก็สามารถเดินเข้าไปได้ ตอนนี้เรามีเครือข่ายแล้วแต่ยังไม่มีสถานที่ในการสอน การจัด Workshop หรือบางครั้งมีคนสนใจมาดูงานของพวกเรา ก็จะได้มีที่ให้เขาศึกษาได้ เบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กำลังพิจารณาอนุมัติให้ใช้คณะมนุษยศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ย่อมๆ ส่วนอีกทางหนึ่งทีมงานก็ได้เข้าไปหารือกับทางนายกอบจ.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราก็ทำแผนโครงการเสนอท่านด้วย



"ในแผนระยะยาวของเราสิ่งต่อไปเมื่อมีศูนย์เรียนรู้แล้วคือการจัด Workshop รายเดือน ซึ่งนักเรียนหรือเยาวชนที่ต้องการหาความรู้ด้านดนตรีก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นไปเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะเราจะมีวิทยากรจากกรุงเทพฯ มาสอนกันที่นี่เลย เด็กๆ หรือเยาวชนที่อยากจะศึกษาด้านดนตรีไม่ต้องไปไหนไกล เพราะสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยท้องถิ่นได้เลย”

"เราจะพัฒนาเด็กที่ได้รับความรู้ ให้เป็นผู้นำในการสอนเด็กรุ่นต่อๆ ไปได้ เด็กควรที่จะได้รับความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อจะนำไปต่อยอดได้อย่างชัดเจน ”

กล่องแสดงความคิดเห็น

เป็นโครงการที่ดีมาก
บันทึก : 2022-06-24 06:18:50 เขียนโดย พรณรงค์ ทรัพย์คง
เริ่ดค่ะ
บันทึก : 2022-06-24 10:22:23 เขียนโดย ธมนวรรณ อังคะหิรัญ
Good Story
บันทึก : 2022-06-28 08:18:58 เขียนโดย พรณรงค์ ทรัพย์คง