https://www.youtube.com/watch?v=o7zVH8L3XaI
โรงเรียนวัดไผ่ล้อม
1 โรงเรียน 1 ประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัดไผ่ล้อม
 องค์ความรู้ที่ได้
ประวัติชุมชนริมน้ำจันทบูร
ชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรีด้านตะวันตก แต่เดิมรู้จักกันในชื่อที่เรียกกันติดปากว่า "บ้านลุ่ม" ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวจีนและญวนอพยพตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาได้พัฒนามาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของจันทบุรีที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันคือสถานที่ท่องเที่ยว ที่หากใครที่มาเยือนจังหวัดจันทบุรี แล้วไม่ควรพลาด มีจุดเริ่มต้นจากเชิงสะพานวัดจันทร์ เป็นแนวไปตลอดจนถึงชุมชนตลาดล่าง บริเวณที่เรียกว่าท่าเรือจ้างอาคารส่วนใหญ่ เป็นที่พักอาศัยและร้านค้าของชุมชนที่มีอายุเกือบร้อยปี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะเป็นตึกแถวโบราณลวดลายไม้จำหลักอ่อนช้อย งดงาม อยู่ตามบานประตูหน้าต่าง และมุมอาคาร ซึ่งจะพบรูปแบบเรือนขนมปังขิงปะปนอยู่ด้วย เพราะชาวจันทบุรีได้รับอิทธิพลจากการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศเมื่อสมัย ร. 5 ลักษณะการฉลุลายของช่างฝีมือชาวจันทบุรี จัดได้ว่ามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการจำหลักฉลุช่องลม เป็นภาพจำหลักนูนรูปหัวพยัคฆ์สอดแทรกอยู่ตามกิ่งเครือเถา หรือความคมเฉียบของลายที่แฝง ไปด้วยความอ่อนช้อย ของลายจำหลักจึงถือว่าเป็นย่านประวัติศาสตร์ของจันทบุรี
สถาปัตยกรรมใน 3 ย่าน
ความโดดเด่นของในชุมชนริมน้ำจันทบูร คือเป็นเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ สำหรับการเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะที่คงอยู่มีการผสมผสานที่ลงตัว ของแต่ละยุคสมัย และแต่ละเชื้อชาติ ทำให้ได้เห็นวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ช่วง 200 ปี 150 ปี 100 ปี มาจนถึงช่วงปัจจุบัน บนถนนเส้นนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ย่าน คือ ย่านท่าหลวง ย่านตลาดกลาง และย่านตลาดล่าง
- ย่านท่าหลวง
คือจากบริเวณเชิงสะพานวัดจันทร์ในช่วงต้นๆ ซอย เดิมเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย และทำธุรกิจ
- ย่านตลาดกลาง
เป็นย่านที่เริ่มเห็นเป็นอาคารพาณิชย์ และตึกสูง ย่านนี้เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า มีท่าเรือสำหรับการคมนาคม และขนส่งสินค้า เคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2533 ได้มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ จึงไม่ค่อยมีอาคารเก่าให้เห็นมากนัก
- ย่านตลาดล่าง
เดิมเคยเป็นย่านที่อยู่อาศัย ลักษณะบ้านเรือนจึงแตกต่างกันไป ตามฐานะของเจ้าของบ้าน บ้านของคหบดี มีการตกแต่งบานประตูหน้าต่าง และช่องลม ด้วยไม้ฉลุลวดลายที่ดูอ่อนช้อย จะได้เห็นบ้านในลักษณะเรือนขนมปังขิง* บ้างก็เป็นแบบโคโลเนียล** และชิโนโปรตุกีส
* ขนมปังขิง (Gingerbread) มาจากการที่ชาวตะวันตก นิยมเอาคุกกี้ขิง มาทำเป็นบ้านตุ๊กตาเล็กๆ ประดับตกแต่งด้วยลูกอม ลูกกวาด และลวดลายมากมาย (เรียกว่า Gingerbread House) ดังนั้นเมื่อนักสถาปัตย์ใช้การประดับตกแต่งบ้านเรือนด้วยลวดลายต่างๆ จึงเรียกว่า Gingerbread Style "เรือนขนมปังขิง" เป็นลักษณะการตกแต่ง ประดับประดาบ้านเรือนด้วยไม้ฉลุลาย ตามบริเวณชายคา ช่องลม กันสาด ราวระเบียง ต้นแบบมาจากบ้านสไตล์วิคตอเรียในอังกฤษ และได้เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเริ่มแรกเป็นการตกแต่งพระราชวัง บ้านขุนนาง เศรษฐี คหบดี จนถึงวัดวาอาราม นอกจากนี้ คนไทยยังได้ดัดแปลงใส่ลวดลายความเป็นไทยลงไป ทำให้ดูอ่อนช้อยเข้ากับการตกแต่งบ้านเรือนของไทย การตกแต่งแบบนี้เริ่มซาลงในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนเรือนขนมปังขิงที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น ได้แก่ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นต้น
** รูปแบบโคโลเนียล (Colonial Style) หรืออาจเรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมอาณานิคม คือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ทำให้เกิดการผสมผสานทางสถาปัตยกรรม รูปแบบโคโลเนียลเข้ามามีอิทธิพลในช่วงรัชกาลที่ 5-6 ซึ่งเรือนขนมปังขิง ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลด้วยเช่นกัน
*** ชิโนโปตุกีส เป็นลักษณะอาคารที่เป็นตึกแถว เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกส และจีน
สถานที่สำคัญชุมชนริมน้ำจันท์
บ้านหลวงราชไมตรี
บ้านเลขที่ 252 บนถนนสุขาภิบาล ตั้งอยู่ใกล้หัวถนนท่าหลวง เป็นบ้านอายุราว 150 ปี บ้านของท่านหลวงราชไมตรี* มีบ้านมีอยู่ 2 หลัง หลังหนึ่งเป็นบ้านเลขที่ 252 เป็นบ้านไม้สักทอง 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทย ส่วนอีกหลังอยู่ฝั่งตรงข้าม เป็นบ้านตึก เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่ง
บ้านหลวงราชไมตรี ส่วนที่เป็นเรือนไม้ อยู่ติดริมน้ำจันทบุรี ปัจจุบันได้ปรับปรุง เปิดให้เป็นบ้านพักเมื่อปลายปี พ.ศ. 2557 โดยเปิดเป็นบ้านพักประวัติศาสตร์ ลักษณะบูทิคโฮเทล ที่ใช้บ้านเก่าแก่ มาปรับแต่งให้เป็นห้องพัก ทั้งหมด 12 ห้อง แต่ละห้องมีชื่อ และมีเรื่องเล่าในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น
- ห้องเอเชียตีค ให้ความรู้สึกแบบกลิ่นอายตะวันตก
- ห้องนายพ่อนายแม่ เป็นห้องที่มีบันทึกคำสอนของหลวงราชไมตรี ที่ให้ไว้กับลูกหลาน
- ห้องวิถีจันท์ เป็นห้องพักที่ได้เห็นถนนสุขาภิบาลที่อยู่ด้านหน้าบ้าน ได้เห็นวิถีชีวิตชุมชน
- ห้องลูกยาง เป็นห้องที่ให้เห็นถึงที่มาของการปลูกยางพารา ในเมืองจันทบุรี ซึ่งหลวงราชไมตรี
เป็นผู้นำเข้ามาปลูก
นอกจากนี้ยังมีห้องพักแบบอื่นๆ ที่ตกแต่งด้วยไม้ ทำให้ดูขรึม คลาสสิก ด้านหลังบ้านมีระเบียงให้ได้นั่งชมวิวริมแม่น้ำจันทบุรีด้วย ในส่วนอื่นๆ ของตัวบ้าน นอกจากจะได้ชมความสวยงามของเรือนไม้แล้ว ยังมีของใช้ส่วนตัวของท่านหลวงราช นำมาตั้งโชว์ตามจุดต่างๆ เช่น ถ้วยชาม เครื่องคิดเลข เป็นต้น ทำให้รู้สึกเหมือนได้พักอยู่ในบ้านที่อบอุ่น พร้อมทั้งชมพิพิธภัณฑ์ไปด้วย
บ้านเรียนรู้ชุมชน
บ้านเลขที่ 69 บนถนนสุขาภิบาล ตั้งอยู่บริเวณตลาดล่าง หากมาจากตลาดพลอย หรือโบสถ์โรมันคาทอลิก จะเจอบ้านเรียนรู้ชุมชนก่อน
บ้านเรียนรู้ชุมชน เป็นเสมือนสำนักงานใหญ่ของชุมชนริมน้ำจันทบูร ที่บอกเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดของชุมชนแห่งนี้ กระบวนการเกิด "ชุมชนริมน้ำจันทบูร" รวมถึงการกำหนดทิศทางการฟื้นฟูชุมชน ภายในบ้านมีลักษณะเหมือนแกลเลอรีภาพถ่าย มีรูปภาพเก่าเล่าเรื่องในอดีต จินตนาการผ่านภาพเขียน ภาพประกวดที่สะท้อนวันนี้ของวันวาน ส่วนชั้น 2 แสดงการเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นแกลเลอรีภาพวาดลายเส้นด้านสถาปัตยกรรมของบ้านแต่ละหลัง
บ้านเรียนรู้ชุมชน เป็นบ้านที่อายุนานกว่า 100 ปี เดิมคือบ้านของคหบดี "ขุนอนุสรสมบัติ" ตกทอดมารุ่นต่อรุ่น ปัจจุบันเจ้าของบ้านคือพ.อ.หญิงบุญพริ้ม ปฏิรูปานุสร ผู้ที่อนุญาติให้ใช้ประโยชน์สำหรับงานชุมชน รูปแบบบ้านเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ มีการผสมผสานด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล
สามารถเดินเข้าชมในบ้านเรียนรู้ชุมชน ได้โดยไม่เสียค่าเข้าชม สามารถชมได้ทั้งชั้นล่างและชั้นบน ถ่ายรูป และสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุมชนริมน้ำจันทบูรได้
บ้านบุณยัษฐิติ หรือ บุณยัษฐิติ วิลล่า
บ้านเก่าแก่กว่าศตวรรษที่ตั้งอยู่ในชุมชนริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่พักหรูและคาเฟ่บรรยากาศดีๆริมแม่น้ำที่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังเป็นบ้านเก่าที่มากไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์การบูรณะบ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่าร้อยปี กลายมาเป็นบ้านที่เฉิดฉายความงามและคุณค่าแห่งมรดกจากบรรพบุรุษ จึงนับเป็นการสานต่อศิลปวัฒนธรรม และเรื่องราวของชุมชนริมน้ำจันทบูรได้เป็นอย่างดี
บ้านเก๋งจีนหนึ่งเดียวในริมน้ำจันท์ ว่ากันตามพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2419 ครอบครัวบุณยัษฐิติรุ่นที่ 6 ทราบว่าบ้านเก๋งจีนอายุกว่า 150 ปีแห่งนี้สร้างโดย หลวงอนุรักษ์พานิช หรือ จีนกั๊ก-บุญมาก บุณยัษฐิติ บุตรของนายบุญคงและนางอยู่ ทั้งสกุล ‘บุณยัษฐิติ’ ของจีนกั๊กยังได้รับพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2459
ครอบครัวบุณยัษฐิติจึงเริ่มเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมก่อนบูรณะจากภาพถ่ายและจดหมายต่างๆ ในหอจดหมายเหตุจังหวัด เริ่มการบูรณะโดยมีสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ที่บูรณะบ้านหลวงราชไมตรีมาช่วยดูแล และตกแต่งภายในโดยมัณฑนากรประจำตระกูล
ชั้นแรกบอกเล่าการบูรณะอาคารหลังนี้ ชั้นที่สองกล่าวถึงประวัติบ้านบุณยัษฐิติ อันมีรูปครอบครัวและข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ รวมถึงโต๊ะหมู่บูชาแบบจีนตั้งอยู่ หากตรงขึ้นไปยังชั้นสามผ่านบันไดชันอย่างโบราณ จะพบกาลานุกรมจันทบุรีที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองจันท์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนปัจจุบัน เทียบกับความเป็นไปของโลกและประเทศไทย โดยผู้จัดนิทรรศการคือนักประวัติศาสตร์อย่าง อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
ชิมขนมท้องถิ่น อิ่มตลอดทาง
บนถนนชุมชนริมน้ำจันทบูร นอกจากจะได้เดินชมบ้านเรือนเก่าแล้ว ยังมีร้านที่เป็นคนในชุมชนเปิดกิจการ ให้ได้แวะชิม ตั้งแต่หัวถนน ไปจนถึงตลาดล่าง เช่น
ร้านไอกครีม ตราจรวด
บ้านเลขที่ 255/3-7 เป็นโรงงานไอศกรีมตราจรวด และบ้านพักอาศัย มีอายุกว่า 100 ปี
ร้านไอศกรีมตราจรวด ที่เป็นยี่ห้อเก่าแก่ของเมืองจันทบุรี เป็นร้านไอติมเจ้าแรกๆ ของจันทบุรี ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ถือเป็นเจ้าแรกที่ใช้เครื่องจักรในการทำไอศกรีม
ลักษณะอาคารเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงยุโรป เหมือนเรือนแถวติดกัน 4 ห้อง เป็นอีกอาคารที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสวยงาม ชั้นล่าง มีลายฉลุไม้ประดับตรงช่องว่างส่วนโค้งเหนือกรอบประตู คันทวยก็เป็นลายฉลุรับให้สอดคล้องกัน ริมหลังคากันสาดได้ติดแถบฉลุลาย ชั้นบน ตกแต่งด้วยลายนูนสูง ทำเป็นเสาโรมันประดับ ขอบหน้าต่างก็ทำเป็นลายเสารับกับส่วนโค้งด้านบนกรอบหน้าต่าง ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างมีความสมบูรณ์อยู่มาก
ในอดีตบ้านนี้เป็นของตระกูล หลวงราชไมตรี และแบ่งให้เช่า จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2502 ครอบครัวของลุงแช หรือคุณปัตตโชติ กตัญญูกุล ได้มาเช่าก่อน 1 ห้อง เพื่ออยู่อาศัย จากนั้นได้ทำไอศกรีมขาย และซื้อบ้านขยายจาก 1 ห้องเป็น 5 ห้อง
ด้านหน้าร้านไอศรีม มีตู้ไอศกรีมเรียงรายอยู่ด้านหน้าร้าน หากต้องการซื้อ และจ่ายเงิน ให้สั่นกระดิ่งเรียกพนักงาน จะโผล่มาให้บริการทางหน้าต่าง ไอศกรีมของทางร้านมีหลายแบบ แบบตัก เป็นไอศกรีมรวมมิตรใส่หน้าได้ ไอศกรีมแบบแท่ง เป็นแท่งๆ ละ 10 บาท ที่ทำออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่นไอศกรีมแท่งหวานเย็นรสผลไม้ต่างๆ เช่นทุเรียน สละ ไอศกรีมตัด ไอศกรีมกะทิ ที่มีไส้ถั่วดำ รวมมิตร ข้าวโพด ลอดช่อง ไอศกรีมปั่น ไอศกรีมกระติก ส่วนที่ขายดีและไม่เหมือนที่ไหนคือ "ไอศกรีมกระเบื้อง" เป็นไอศกรีมแท่ง ด้านในมีรสต่างๆ ด้านนอกเคลือบด้วยน้ำตาลสีชา ทำให้กรอบด้านนอก นุ่มใน
ร้านก๋วยจั๊บป้าไหม
ร้านป้าไหม เป็นก๋วยจั๊บโบราณ เปิดขายมานานกว่า 50 ปี น้ำแกงมีกลิ่นหอมเครื่องเทศ รสชาติเข้มข้น ร้านเปิดแต่เช้า และปิดในช่วงบ่ายๆ
บ้านขนมโก๋ (แม่กิมเซีย) ขนมโก๋ญวนโบราณ


 ดูวีดีโอต้นฉบับ
เอกสารหลักสูตร

ระบบข้อมูลสารสนเทศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
Powered By www.chan1.net