https://www.youtube.com/watch?v=zl-mPEMgwoI
โรงเรียนวัดพลับ
1 โรงเรียน 1 ประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัดพลับ
 องค์ความรู้ที่ได้
โบราณสถานค่ายเนินวง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่มีมานานกว่า 180 ปี เป็นอดีตเมืองเก่าของจันทบุรี และเป็นป้อมปราการที่แข็งแรงที่สุดทางภาคตะวันออกในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ค่ายเนินวงอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง แวะได้สะดวก สามารถขับรถเข้าไปภายในค่ายและชมสถานที่ที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในค่ายได้ เช่น ศาลหลักเมืองเก่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี และวัดโยธานิมิต
โบราณสถานค่ายเนินวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองจันทบุรี ในตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ค่ายเนินวงสร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์ที่ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวน ในปี พ.ศ. 2369 หรือที่รู้จักกันว่าช่วง "กบฎเจ้าอนุวงศ์*" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้สร้างฐานทัพในเมืองจันทบุรี และย้ายตัวเมืองมาที่ค่ายเนินวง เพื่อเป็นที่มั่นในการรบ เพราะเกรงว่าอาจมีชาวญวนอาจบุกเข้ามายึดหัวเมืองทางภาคตะวันออก ก่อนที่จะมีการสร้างค่ายเนินวง ตัวเมืองจันทบุรีเดิม ตั้งอยู่ตำบลบ้านลุ่ม ทางริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำจันทบุรี เพราะมีภูมิประเทศเหมาะกับการอยู่อาศัย ขณะที่เกิดเหตุการณ์บาดหมางกับญวน รัชกาลที่ 3 ทรงเกรงว่า ญวนอาจจะเข้ามาบุกยึดเมืองจันทบุรีได้โดยง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาคลัง เดินทางมายังเมืองจันทบุรี เพื่อหาชัยภูมิใหม่ให้เหมาะกับการตั้งรับศึกจากญวน เจ้าพระยาคลังเห็นว่าบ้านเนินวง มีลักษณะเป็นเนินสูงบริเวณเชิงเขา สามารถมองเห็นข้าศึกได้ในระยะไกล เป็นพื้นที่เหมาะกับยุทธศาสตร์การรบ จึงลงมือสร้างเมืองป้อมเนินวงขึ้น เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2377
ค่ายเนินวง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดประมาณ 270 ไร่ สร้างเป็นป้อมค่ายโดยก่อด้วยดิน สูงประมาณ 6 เมตร เป็นดินที่ขุดคูรอบค่ายขึ้นมาเป็นเนินดิน และก่อกำแพงศิลาแลงด้านบน อิฐและศิลาแลงที่ใช้ นำมาจากกำแพงเมืองจันทบุรีเดิม บนสันแนวกำแพงด้านบนทำเป็นช่องเสมา และวางปืนใหญ่ตามช่องกำแพง ด้านหน้าและด้านหลัง มีปืนใหญ่ทั้งหมดจำนวน 44 กระบอก กำแพงแต่ละด้านทำประตูเชิงเทินหอรบ ด้านละ 2 ประตู รวม 8 ประตู และมีประตูช้างอีก 1 ประตู ที่ประตูได้ก่ออิฐบังเชิงเทินไว้ทั้งสองข้าง ประตูเมืองเดิมเป็นอาคารไม้ มุงกระเบื้องทรงไทย อยู่เหนือประตู ภายหลังในปี พ.ศ.2516 ได้บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ ทำเป็นป้อมคอนกรีตเสริมเหล็กทรง 8 เหลี่ยม ภายในค่ายเมือง มีการสร้างคลังดินปืน คลังอาวุธ สำหรับเก็บกระสุนปืนใหญ่ ขุดสระ สร้างศาลหลักเมือง และสร้างวัดโยธานิมิต ให้เป็นวัดประจำเมือง เมื่อสร้างค่ายเสร็จแล้ว ชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่อยากย้ายมายังเนินวง เนื่องจากเป็นที่ที่อยู่ไกลจากแหล่งน้ำ จึงยังคงอาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิม ส่วนที่ย้ายเข้ามามักเป็นหน่วยงานราชการ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ และเห็นว่าผู้คนไม่นิยมอยู่ที่เนินวง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองกลับไปยังบ้านลุ่มเหมือนเดิม และกลายเป็นตัวเมืองจันทบุรีมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน โบราณสถานค่ายเนินวงได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร ประตูป้อมค่ายด้านหน้าสามารถเดินขึ้นไปชมบริเวณกำแพง ที่ยังคงวางปืนใหญ่ไว้ตามลักษณะเดิมๆ จากจุดด้านบน จะมองเห็นวิวได้ไกลถึงปากแม่น้ำจันทบุรี ภายในค่ายมีเส้นทางที่นำรถยนต์ขับชมพื้นที่ได้โดยรอบ บรรยากาศภายในค่าย มีต้นไม้ร่มรื่น กำแพง และประตูค่ายด้านอื่นๆ อาจมีต้นไม้ขึ้นบดบังจนแทบไม่เห็นเค้าโครงเดิมแล้ว

วัดพลับบางกะจะ ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานที่สำนักพระพุทธศาสนาบันทึกไว้ว่า ได้รับการอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ. 2300 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้สถานที่วัดพลับเป็นที่พักทัพ จัดเตรียมกองทัพก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี เพื่อกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าก่อนที่จะยกทัพไปทำการสู้รบ พระองค์ทรงประกอบพิธีบำรุงขวัญทหาร สร้างพระยอดธงแจกจ่าย และนำน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มาทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมเหล่าทหารหาญ โดยทำพิธีปลุกเสกในพระอุโบสถหลังเก่าโดยภายหลังจากการกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ และจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วยแม่ทัพนายกองได้เสด็จกลับมาบูรณะวัดพลับและได้นำพระยอดธงที่เหลือจากการแจกจ่ายทหารก่อนไปทำการรบเข้าบรรจุในพระเจดีย์กลางทรายถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาเมื่อราชวงศ์จักรีขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา พระองค์ทรงใช้น้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดพลับทำน้ำพระพุทธมนต์ราชาภิเษกในการเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตรย์ โดยกระทำพิธีที่อุโบสถวัดพลับจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายที่ใช้อุโบสถหลังเก่าวัดพลับเป็นสถานที่ทำน้ำพระพุทธมนต์ราชาภิเษก แต่การนำน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์ไปใช้ในพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ ทางราชการยังใช้น้ำในบ่อนี้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งวันที่เราไปนั้น ได้ดูน้ำอยู่ค่อนข้างลึกแต่ใสมาก เจ้าหน้าที่ท่านนึงได้พยายามช่วยเอาถังตักน้ำในบ่อให้พวกเราได้นำมาปะพรม เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต ซึ่งพวกเราที่ไปนั้นรู้สึกปลาบปลื้มยินดีมาก ในปัจจุบันโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่กรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติแล้ว
 ดูวีดีโอต้นฉบับ
เอกสารหลักสูตร

ระบบข้อมูลสารสนเทศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
Powered By www.chan1.net